fahkanongna

อาหารเพื่อสุขภาพ

ใส่ความเห็น

     ในยุคของการแข่งขัน ที่เรากำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน ชีวิตมีความรีบเร่งมากขึ้น จนไม่ค่อยมีเวลาที่จะให้ความสำคัญกับเรื่อง ความสมดุลของอาหารที่รับประทานรวมทั้งค่านิยมการรับประทานอาหารแบบตะวันตก ซึ่งประกอบด้วย เนื้อสัตว์ ไขมัน นม เนย เป็นส่วนใหญ่ ทำให้คนไทยมีโรค ซึ่งเกิดจากการกินดีเกินไป เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคอัมพาต ซึ่งโรคเหล่านี้ล้วนเกี่ยวกับความเสื่อมของหลอดเลือด
ในปัจจุบันชาวตะวันตกเริ่มตระหนักถึงพิษภัยของการกินอาหาร ซึ่งไม่สมดุลได้มีการชักชวนให้ลดการรับประทาน เนื้อสัตว์ นม เนย ให้เพิ่มการรับประทาน พืช ผัก และธัญพืช ซึ่งอุดมด้วยเส้นใยจากธรรมชาติ และวิตามิน
ในวัยเด็ก เนื้อสัตว์และนม ยังเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากร่างกายมีการเจริญเติบโตในวัยผู้ใหญ่ร่างกายต้องการโปรตีนลดลง การรับประทานเนื้อสัตว์ และนมมากเกินไปยังทำให้ร่างกายได้รับไขมันเพิ่ม เนื่องจากในเนื้อสัตว์และนมจะมีปริมาณไขมันค่อนข้างสูง นอกจากนั้นยังพบว่า ผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์มาก ๆ มีโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้สงูควรเปลี่ยนแปลงมารับประทานโปรตีนจากพืชพวกถั่วแทน
อาหารอีกกลุ่มซึ่งไม่ควรรับประทานมากเกินไป คือ น้ำตาล พบว่าน้ำตาลทำให้หลอดเลือดมีความเสื่อมเร็วขึ้น ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีน้ำตาลสูงจะพบว่าหลอดเลือดแก่ก่อนวัย ไขมันก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ควรจำกัด และใช้น้ำมันจากพืชแทน น้ำมันจากสัตว์ ยกเว้นน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันปาล์มควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากมีโคเรสเตอรอลสูง
อาหารที่ควรรับประทานคือ ผัก ผลไม้ ธัญพืช เช่น ข้าวซ้อมมือ ถั่ว เพราะอุดมไปด้วย กากใยธรรมชาติ วิตามิน และเกลือแร่

ตัวอย่าง   ไข่ไก่เป็นอาหารประจำเกือบทุกบ้าน เพราะเป็นแหล่งโปรตีนที่ราคาไม่แพง นำไปปรุงอาหารได้ง่าย แถมโปรตีนในไข่ยังจัดเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพคือมีกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายของเราไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ครบทั้ง 10 ชนิด ในซูเปอร์มาร์เก็ตเดี๋ยวนี้มีไข่ไก่ให้เลือกซื้อหลากหลายรูปแบบทั้งไข่โอเมกา-3 ไข่ดีเอชเอ ไข่ไอโอดีน และยังมีไข่ไก่เปลือกสีขาว ซึ่งแต่เดิมเราเห็นเฉพาะสีน้ำตาล

ทำไมเปลือกไข่จึงมีสีต่างกัน?

แม้ไข่ไก่ที่เราเห็นกันจนคุ้นเคยจะมีเปลือกสีน้ำตาลแต่จริงๆ แล้วไข่ไก่มีเปลือกสีขาวเหมือนไข่เป็ดด้วย โดยเฉพาะในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา สาเหตุที่เปลือกไข่มีสีแตกต่างกันเพราะมาจากสายพันธุ์ของแม่ไก่ สีของเปลือกไข่เกิดจากเม็ดสีที่แม่ไก่สร้างขึ้นระหว่างที่สร้างไข่ในรังไข่ของมัน ซึ่งเม็ดสีที่สร้างขึ้นนี้จะแตกต่างกันไปตามพันธุกรรมและสายพันธุ์ของแม่ไก่

egg

หลักในการดูว่าแม่ไก่สายพันธุ์ไหนจะออกไข่เป็นสีอะไรให้ดูที่ติ่งบริเวณด้านข้างหัว (Earlobe) ว่ามีสีอะไรหรือดูคร่าวๆ จากสีขนก็ได้แต่อาจจะไม่ค่อยตรง เพราะแม่ไก่ขนสีน้ำตาลบางสายพันธุ์ก็ออกไข่เป็นสีขาว ไข่ของไก่ทุกสายพันธุ์จะสร้างขึ้นเป็นสีขาวในตอนแรกและค่อยสร้างเม็ดสีต่างๆ ตามมา ด้านในของเปลือกไข่จึงเป็นสีขาวไม่ว่าเปลือกด้านนอกจะเป็นสีขาวหรือสีน้ำตาล ถ้าเราเก็บไข่ไก่สีน้ำตาลที่แม่ไก่เพิ่งวางใหม่ๆ ซึ่งยังชื้นๆ อยู่มาถูกหรือขัดสีน้ำตาลจะหลุดออกมากลายเป็นไข่เปลือกสีขาว แต่ก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของแม่ไก่ด้วยว่าสีจะหลุดยากหรือง่าย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการเคลือบเม็ดสีลงบนเปลือกไข่ในท้องแม่ไก่ที่แตกต่างกันไปในแต่ละสายพันธุ์

นอกจากเฉดสีแล้ว สีของเปลือกไข่ของไก่สายพันธุ์เดียวกันก็อาจมีความเข้มแตกต่างกันได้จากหลายสาเหตุ แม่ไก่ที่เครียดไม่ว่าจากอากาศร้อนหรือสภาวะในโรงเลี้ยงที่ไม่เหมาะสม จะหลั่งฮอร์โมนบางชนิดที่ขัดขวางการสร้างเม็ดสี ทำให้เปลือกไข่มีสีน้ำตาลกว่าปกติ เช่นเดียวกับแม่ไข่ที่ติดเชื้อไวรัสบางชนิด

นอกจากนี้แม่ไก่แต่ละพันธุ์จะสร้างเม็ดสีขึ้นมาในปริมาณเท่าๆ กัน ขนาดของไข่ก็มีผลต่อสีของเปลือกไข่ด้วย ยิ่งออกไข่ที่มีขนาดใหญ่ เปลือกไข่ก็จะมีสีอ่อนลงเพราะปริมาณเม็ดสีที่สร้างขึ้นมาเคลือบเปลือกไข่มีเท่าเดิม แม่ไก่ที่มีอายุมากขึ้นก็จะออกไข่ที่มีเปลือกสีอ่อนลงด้วยเพราะสร้างเม็ดสีได้น้อยลง

ถ้าแม่ไก่ที่ออกไข่เปลือกสีขาวอมฟ้ากินอาหารที่มีปริมาณแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) สูง (คาโรทีนอยด์เป็นเม็ดสีที่อยู่ในอาหารและทำให้มีสีส้มตามธรรมชาติเช่น แครอต ฟักทอง และเปลือกกุ้ง) เปลือกไข่จะมีเฉดสีฟ้าเข้มขึ้น แคโรทีนอยด์ยังทำให้ไข่แดงมีสีส้มแดงด้วย จึงนิยมใช้เป็นส่วนผสมในอาหารแม่ไก่และเป็ดเพื่อให้ไข่แดงมีสีเข้มขึ้น นอกจากนี้ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าสีของเปลือกไข่ก็เข้มอ่อนไม่สม่ำเสมอทั่วกันทั้งฟอง หรือมีจุดสีเข้มๆ กระจายอยู่บนเปลือก ซึ่งก็เกิดจากขึ้นตอนการเคลือบสีเปลือกไข่ในท้องแม่ไก่

โอเมกา-3 หรือ DHA ในไข่

ด้านคุณค่าทางโภชนาการ ในต่างประเทศที่นิยมเลี้ยงไก่สายพันธุ์ที่ออกไข่สีขาวมักกล่าวอ้างเพื่อโฆษณาขายไข่สีน้ำตาลซึ่งมีราคาแพงกว่าว่า ไข่สีน้ำตาลมีสารอาหารและกลิ่นรสดีกว่า แต่จริงๆ แล้วเปลือกสีต่างกันไม่ได้ทำให้ปริมาณสารอาหารต่างๆ ในไข่ต่างกันเลย เมื่อนำไปทำอาหารก็ไม่ได้แตกต่างกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัมผัสและการขึ้นฟู เพราะไข่ที่มีเปลือกสีต่างกันเกิดขึ้นจากกระบวนการสร้างเปลือกของแม่ไก่แต่ละสายพันธุ์เท่านั้น แต่การสร้างองค์ประกอบอื่นๆ ในไข่ไม่ได้ต่างกัน

ไข่ไก่

คุณค่าทางโภชนาการของไข่ทั้งปริมาณโปรตีน ไขมันคอเลสเตอรอล และสารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอื่นๆ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของไข่ ลักษณะการเลี้ยง และอาหารที่ใช้เลี้ยงแม่ไก่ ในต่างประเทศมีการศึกษาว่าไก่ที่เลี้ยงแบบอิสระ (Free Range Chicken) หรือให้กินอาหารตามธรรมชาติ (Pastured Chicken) จะวางไข่ที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำกว่าไก่ที่เลี้ยงในกรงและกินอาหารไก่ทั่วไป จึงกลายเป็นที่นิยม

หลายคนคงเคยเห็นไข่โอเมกา-3 ไข่ดีเอชเอ ไข่ไอโอดีน ไข่เหล่านี้ผลิตโดยการเสริมสารอาหารเหล่านั้นลงในอาหารไก่ โดยเฉพาะน้ำมันปลาซึ่งมีอีพีเอ (Eicosapentaenoic Acid, EPA) และดีเอชเอ (Docosahexaenoic Acid, DHA) ซึ่งเป็นกรดไขมันโอเมกา-3 (Omega-3 Fatty Acids) ทำให้ไข่ที่แม่ไก่สร้างขึ้นมีปริมาณสารเหล่านี้สูงขึ้นตามไปด้วย ส่วนจะมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับปริมาณที่เติมลงในอาหารไก่

จริงๆ แล้วไข่ไก่ก็มีกรดไขมันโอเมกา-3 นะครับ แต่มีปริมาณน้อยและไม่ใช่อีพีเอ ดีเอชเอ แต่เป็นกรดไขมันโอเมกา-3 ตัวอื่น เช่น กรดอัลฟาลิโนเลนิก หรือ เอแอลเอ (α-linilenic Acid, ALA) ซึ่งพบตามธรรมชาติในน้ำมันถั่วเหลืองด้วยไข่โอเมกา-3 และไข่ดีเอชเอไม่ได้มีปริมาณไขมันสูงกว่าไข่ทั่วไป ปริมาณไขมันซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในไข่แดงก็ไม่ได้แตกต่างกัน เพียงแต่สัดส่วนและปริมาณของกรดไขมันชนิดต่างๆ อาจต่างกันไป เนื่องจากมีกรดไขมันโอเมกา-3 ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดหลายตำแหน่ง (Polyunsaturated Fatty Acid) ในปริมาณมากกว่าแต่ปริมาณสารอาหารสำคัญอย่างโปรตีนยังเท่าเดิม

นอกจากนี้อายุการเก็บก็เท่ากับไข่สดปกติด้วย เพราะถึงแม้ว่ากรดไขมันโอเมกา-3 จะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันที่ทำให้เกิดกลิ่นหืนได้ง่าย แต่ธรรมชาติของไข่ที่มีผิวเคลือบหุ้มเปลือกด้านนอกและยังมีโครงสร้างส่วนต่างๆ ที่ช่วยปกป้องไข่แดงไม่ให้สัมผัสกับอากาศ ทำให้ปฏิกิริยาเกิดได้น้อยมาก การที่ไข่จะเน่าช้าหรือเร็วยังขึ้นอยู่กับความสะอาดและกระบวนการต่างๆ ที่ใช้ตลอดขั้นตอนการผลิตด้วย เช่น โรงเรือนเลี้ยง การเก็บและทำความสะอาดไข่บรรจุภัณฑ์ อุณหภูมิและความชื้นที่เก็บรักษา

แถมอีกนิดสำหรับไข่แฝดที่มีไข่แดง 2 ฟองอยู่รวมกัน เกิดจากการที่แม่ไก่บังเอิญตกไข่พร้อมกัน 2 ใบ จึงสร้างไข่ขาวและเปลือกมาหุ้มรวมกันไว้เป็นฟองเดียว ซึ่งโอกาสที่จะเกิดไข่แฝดคือหนึ่งในพันฟอง ไข่แฝดจะมีขนาดใหญ่กว่าไข่ปกติและไม่สามารถฟักเป็นตัวได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าไข่ขนาดใหญ่จะเป็นไข่แฝดนะครับ เพราะขนาดใหญ่ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และอายุของแม่ไก่ แม่ไก่จะออกไข่ขนาดใหญ่เรื่อยๆ ตามอายุของมัน ไข่แฝดจะมีขนาดใหญ่กว่าไข่ปกติของแม่ไก่ตัวนั้นๆ

ไม่ว่าจะเป็นไข่ชนิดไหนก็ให้ประโยชน์และเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีเหมือนๆ กันครับ

ประโยชน์ของนม] คุณค่าทางโภชนาการในนมและผลิตภัณฑ์จากนม

กินดีอยู่ดี, พลังงานและสารอาหาร, วิตามิน แร่ธาตุ และอาหารเสริม
Zoom Out Zoom In
By hmeplease d+

1366

               นมและผลิตภัณฑ์จากนมจัดเป็นอาหารสำคัญของประชากรทั่วโลกกว่า 4,000 ปี ก่อนคริสตกาล ปัจจุบันนมและผลิตภัณฑ์จากนมที่ขายตามท้องตลาดมีหลากหลายชนิด เพื่อให้เข้าถึงคนเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

การแบ่งประเภทของน้ำนมแบ่งได้ตามปราณไขมันที่มีอยู่ในนม ได้แก่ น้ำนมไขมันเต็ม (Whole Milk) น้ำนมปราศจากไขมัน (Skimmed Milk) น้ำนมพร่องไขมัน (Semi-Skimmed Milk) น้ำนมไขมันต่ำ (Low-Fat Milk) และน้ำนมไขมันมาตรฐาน (Standardized Milk) และแบ่งตามกระบวนการให้ความร้อน เช่น น้ำนมพาสเจอไรซ์ (Pasteurized Milk) น้ำนมสเตอริไลซ์ (Sterilized Milk) และน้ำนมยูเอชที (Ultra-High-Temperature (UHT) – Treated Milk) อีกทั้งความเชื่อเรื่องสุขภาพทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากนมได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น นมปรุงแต่งกลิ่นรส นมข้นหวาน นมผง ชีส ครีม เนยแข็ง โยเกิร์ต คูมิส (Kumys) และคีเฟอร์ (Kefir) ปัจจุบันมีการค้นคว้าวิจัยเรื่องรสชาติ ความแปลกใหม่ รวมทั้งพัฒนาและปรับปรุงนมและผลิตภัณฑ์จากนมเอให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น

คุณค่าทางโภชนาการในนมและผลิตภัณฑ์จากนม

นมและผลิตภัณฑ์จากนมจัดเป็นกลุ่มอาหารฟังก์ชัน (Functional Food) เนื่องจากมีส่วนประกอบของสารที่มีประโยชน์ทางชีวภาพ (Bioactive Compound) ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ มีโปรตีนคุณภาพดี และเป็นแหล่งสำคัญของโปรตีนเคซีน (Casein) ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบย่อยอาหาร ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงระบบประสาทและสมอง ส่วนไขมันและกรดไขมันที่สำคัญในนมคือ Conjugated Linoleic Acid (CLA) ช่วยป้องกันการเกิดสารก่อมะเร็ง (Anticarcinogen) และช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน (Immunomodulator) ปัจจุบันมีการเสริมสารอาหารต่างๆ ลงไปเช่น นมเสริมธาตุเหล็ก แคลเซียม นมเสริมวิตามินเอ ดี และซี เติมแล็กเทสในนมเพื่อช่วยย่อยแล็กโทสสำหรับผู้ที่แพ้นม และนมออร์แกนิก

นอกจากนี้การนำน้ำนมไปหมักด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ (Probiotic) เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มคุณค่าทางด้านสุขภาพ โดยช่วยรักษาสมดุลในระบบทางเดินอาหาร ช่วยลดการเกิดอาการแพ้น้ำตาลแล็กโทส (Lactose Intolerance) และช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรค (Pathogenic Bacteria) เป็นต้น ปัจจุบันการผลิตยังมุ่งเน้นเรื่องอาหารฟังก์ชันที่เติมจุลินทรีย์หรือสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น เมลาโทนินหรือแพลนต์สตานอล (Plant Stanols) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานและโรคอ้วน โรคกระดูกและข้อเสื่อม

ประโยชน์ของนมและผลิตภัณฑ์จากนมกับสุขภาพ

ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด Mannario E ได้ศึกษาผลของการดื่มนมไขมันต่ำที่ผสมแพลนต์สตานอลต่อระดับไขมันในเลือด ในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 60 คน ที่มีภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูงเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่าการดื่มนมไขมันต่ำที่ผสมแพลนต์สตานอล 1.6 กรัมต่อวันช่วยลดระดับแอลดีแอลคอเลสเตอรอลจาก 166.2±2.0 เป็น 147.4±2.8 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลรวมในเลือดจาก 263.5±2.6 เป็น 231.0±3.2 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร สรุปคือช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และยังส่งผลต่อการต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย

คุณค่าทางโภชนาการในนมและผลิตภัณฑ์จากนม

นอกจากนี้ Fonollá ได้ศึกษาผลของการดื่มนมไขมันปกติที่ประกอบด้วยกรดไขมันที่จำเป็น EPA, DHA, Oleic Acid และวิตามินเอ บี6 ดี อี และกรดโฟลิก เปรียบเทียบกับนมไขมันต่ำและนมปราศจากไขมันในกลุ่มตัวอย่างที่เสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นเวลา 1 ปีพบว่า การดื่มนมที่มีกรดไขมันดังกล่าวเป็นเวลา 1 ปีช่วยเพิ่มระดับโฟเลตในเลือด (58%) และเพิ่มระดับ HDL (4%) แต่ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด (10%) ระดับคอเลสเตอรอลรวมในเลือด (4%) และระดับ LDL (6%) เมื่อเทียบกับกลุ่มนมไขมันต่ำและนมปราศจากไขมัน ดังนั้นการดื่มนมที่ประกอบด้วยน้ำมันปลากรดโอเลอิก และวิตามินจึงช่วยลดปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ช่วยลดการอักเสบ การศึกษาผลของการดื่มนมและผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำต่อตัวชี้วัดการอักเสบ (Inflammatory Marker) ในกลุ่มตัวอย่างที่มีค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI มากกว่า 27 กิโลกรัมต่อตารางเมตร จำนวน 35 คน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าการดื่มนมและผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำปริมาตร 2 แก้วต่อวันช่วยลดระดับการอักเสบของร่างกาย โดยค่า TNF – α ในเลือดจะลดลง ลดการเกิดอนุมูลอิสระและการอักเสบ อีกการศึกษาหนึ่งในกลุ่มตัวอย่างที่มีน้ำหนักเกินและอ้วนจำนวน 20 คน เป็นเวลา 28 วัน พบว่าระดับสารอนุมูลอิสระลดลง ตัวชี้วัดการอักเสบลดลง สรุปว่าการดื่มนมและผลิตภัณฑ์จากนมเพิ่มขึ้นเป็นประจำทุกวัน ช่วยลดระดับสารอนุมูลอิสระและสารก่อการอักเสบในคนที่มีน้ำหนักเกินและอ้วน

คุณค่าทางโภชนาการในนมและผลิตภัณฑ์จากนม

ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน การศึกษาผลระยะยาวของการดื่มนมไขมันต่ำต่อตัวชี้วัดเกี่ยวกับโรคอ้วนลงพุง หรือ Metabolic ในกลุ่มผู้มีสุขภาพดีจำนวน 23 คน เป็นเวลา 12 เดือน พบว่ากลุ่มที่ดื่มนมไขมันต่ำวันละ 4 แก้วต่อวัน การทำงานของอินซูลินจะดีกว่ากลุ่มที่ดื่มนมวันละ 2 แก้ว กล่าวคือกรดื่มนมอาจช่วยลดภาวะการดื้อต่ออินซูลินได้ อีกหนึ่งการศึกษาได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มนมและผลิตภัณฑ์จากนมตั้งแต่วัยเรียนต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ในผู้หญิงจำนวน 37,038 คน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998-2005 พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่บริโภคนมและผลิตภัณฑ์จากนม 2 แก้วต่อวันมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานน้อยกว่ากลุ่มที่บริโภคน้อยกว่า 2 แก้วต่อวัน ประมาณร้อยละ 38 อีกหนึ่งงานวิจัยที่สนับสนุนการดื่มนมเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานในกลุ่มผู้หญิงจำนวน 64,191 คน เป็นเวลา 6.9 ปี โดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ไม่ดื่มนมกับกลุ่มที่ดื่มนมมากกว่า 200 มิลลิลิตรต่อวัน พบว่ามีผู้ที่เป็นเบาหวานรายใหม่เพียง 2,270 คน

ช่วยลดน้ำหนักและควบคุมน้ำหนัก การศึกษาเปรียบเทียบการดื่มนมวัว นมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม และแคลเซียมต่อการลดลงของน้ำหนักตัวและไขมันในร่างกายในกลุ่มตัวอย่างที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนจำนวน 100 คน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าน้ำหนักตัวลดลงมากที่สุดในกลุ่มที่ดื่มนมวัวไขมันต่ำ (4.43±1.93 kg) รองลงมาคือกลุ่มนมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม (3.46±1.28 kg) กลุ่มเสริมแคลเซียม (3.8±2.40 kg) อีกหนึ่งการศึกษาที่ศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการดื่มนมต่อโรคอ้วน พบว่าการดื่มนมเป็นประจำโดยเฉพาะที่มีไขมันต่ำอาจช่วยป้องกันการเพิ่มขึ้นของน้ำหนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของผลิตภัณฑ์จากนมที่บริโภคด้วย

ช่วยเกี่ยวกับความจำ จากการศึกษาผลของการดื่มนมที่ลดไขมันต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมองในกลุ่มตัวอย่างที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนจำนวน 38 คน เป็นเวลา 12 เดือน พบว่ากลุ่มที่ดื่มนมลดไขมัน 4 แก้วต่อวันมีประสิทธิภาพการทำงานของสมองที่ดีกว่ากลุ่มที่ดื่มนมวันละ 1 แก้ว โดยวัดจากความจำ การประมวลผลข้อมูล และการใช้เหตุผล

คุณค่าทางโภชนาการในนมและผลิตภัณฑ์จากนม

ช่วยเกี่ยวกับกระดูก การศึกษาผลของธาตุเหล็กและนมเสริมธาตุเหล็กและวิตามินดีต่อการเปลี่ยนแปลงของกระดูกในกลุ่มผู้ที่มีภาวะขาดธาตุเหล็กเป็นเวลา 16 สัปดาห์ กลุ่มที่ได้รับนมไขมันต่ำเสริมธาตุเหล็ก (15 มิลลิกรัมต่อวัน) และวิตามินดี (5 ไมโครกรัมต่อวัน) มีระดับวิตามินดีในเลือดเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มธาตุเหล็ก ดังนั้นการดื่มนมและผลิตภัณฑ์จากนมที่มีวิตามินดีและธาตุเหล็กจะช่วยลดการสูญเสียของกระดูก อีกการศึกษาที่สนับสนุนการดื่มนมกับกระดูก โดยดูจากการบริโภคนมถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากนมต่อสุขภาพกระดูกในกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงที่หมดประจำเดือนจำนวน 337 คน เป็นระยะเวลา 2 ปี พบว่ากลุ่มที่ดื่มนมอย่างน้อย 1 ครั้งต่อวันเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนลดลงร้อยละ 62 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ดื่มนมน้อยกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์

ช่วยเกี่ยวกับการนอนหลับ การศึกษาผลของการดื่มนมที่หมักด้วยเชื้อแลคโตบาซิลลัสต่อการนอนหลับในกลุ่มผู้สูงอายุ (60-81 ปี) ที่มีสุขภาพดีเป็นเวลา 6 สัปดาห์ การดื่มนมหมัก 100 กรัมต่อวันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการนอนหลับให้ดีขึ้น อีกหนึ่งการศึกษา ได้เปรียบเทียบการดื่มนมเสริมแมกนีเซียมกับทริปโตฟานต่อการนอนหลับในกลุ่มผู้หญิงที่มีภาวะโรคนอนไม่หลับระดับปานกลางจำนวน 15 คน เป็นเวลา 25 สัปดาห์ พบว่าการได้รับนมเสริมแมกนีเซียมช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการนอนหลับ รวมทั้งคุณภาพของการนอนให้มากขึ้นด้วย

ช่วยเกี่ยวกับความหิวและความเต็มอิ่ม การศึกษาผลระยะสั้นในการบริโภคโยเกิร์ตไขมันต่ำเสริมโปรตีน (8 กรัม/ส่วน) และใยอาหาร (2.6-2.9 กรัม/ส่วน) ต่อความอยากอาหารในกลุ่มผู้ที่มีสุขภาพดี พบว่าการบริโภคอาหารดังกล่าวในตอนเช้าช่วยลดความอยากอาหาร รวมทั้งลดปริมาณ อาหารที่กินในมื้อกลางวันลงถึง 274 กิโลจูล กล่าวคือโยเกิร์ตไขมันต่ำเสริมโปรตีนและใยอาหารมีผลช่วยลดความอยากอาหารในระยะสั้นได้ นอกจากนี้ผลการศึกษาของการดื่มนมไขมันต่ำเปรียบเทียบกับการดื่มน้ำผลไม้ในตอนเช้าต่อผลของความเต็มอิ่มหรือความอยู่ท้อง และการบริโภคอาหารมื้อกลางวันในกลุ่มผู้ที่มีน้ำหนักเกินจำนวน 34 คน พบว่าหลังจากดื่มนมไขมันต่ำ 600 มิลลิลิตรทำให้ความเต็มอิ่มเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการกินอาหารในมื้อกลางวันลดลง 226 กิโลจูล เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ดื่มน้ำผลไม้ อีกหนึ่งงานวิจัยที่สนับสนุนว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมและโยเกิร์ตพร้อมดื่มเสริมใยอาหารสามารถช่วยเพิ่มความเต็มอิ่มอยู่ท้องและลดการกินอาหารในมื้อถัดไปของกลุ่มตัวอย่างสุขภาพดีได้ด้วย

สรุป

การดื่มนมและผลิตภัณฑ์จากนมนอกจากจะเป็นแหล่งไขมัน วิตามินและเกลือแร่ ซึ่งช่วยเรื่องการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอแล้ว ยังเป็นแหล่งของสารซึ่งมีประโยชน์ทางชีวภาพ ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพให้ดี เช่น ช่วยลดระดับไขมันในเลือด ลดระดับสารก่อการอักเสบ ลดการเกิดสารอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ช่วยเรื่องความจำ และกระดูก และการนอนหลับ รวมถึงเพิ่มความเต็มอิ่มและลดความหิว ซึ่งอาจช่วยเรื่องการลดลงของน้ำหนักตัวหรือช่วยควบคุมน้ำหนักอีกด้วย

ปัจจุบันวิวัฒนาการและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากนมยังมีการค้นคว้าวิจัยกันเพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลาย จึงยังต้องมีการศึกษาผลต่อสุขภาพเพิ่มเติมในอนาคตต่อไป

 ที่มา : http://cooking.kapook.com/menu/healthy

http://healthmeplease.com/semi-skimmed-milk.html

http://healthmeplease.com/egg-omega-3.html

ผู้เขียน: fahkanongna

ดิฉัน ชื่อนางสาว จิราภรณ์ บุตรด้วง อายุ 18 ปี ชื่อเล่นฟ้า อยู่จังหวัดอุดรธานี ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเพ็ญพิทยาคม จัดทำบล็อคนี้ขึ้นเพื่ออยากให้ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพได้รู้จักกับอาหารเพื่อสุขภาพที่มีประโยชน์ เพื่อได้นำสาระความรู้ดีๆไปปรับใช้ในชีวิตประจำไว้ได้

ใส่ความเห็น